ย้อนรอย 3 ปี บึมสนั่นหน้ารามฯ ทิ้งปมค้าง ผลประโยชน์หรือการเมือง


เหตุระเบิดหน้ารามฯ ตร.แยก 2 ประเด็น "อิทธิพล - สร้างสถานการณ์" ตัดปม "ยิ่งลักษณ์" เรียกถก ผบ.เหล่าทัพ จี้สางปัญหาภาคใต้ ระบุพฤติการณ์ไม่เชื่อมโยง เบื้องต้นพุ่งเป้าความขัดแย้งค้าขายในพื้นที่...
ถ้าจะเอ่ยคำว่า "ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย" ประโยคนี้คงหมายถึง ชีวิตที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่หรือเต็มไปด้วยอันตราย เช่นเดียวกับเหตุระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว ช่วงกลางดึกวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ค.2556 ที่บริเวณปากซอยรามคำแหง 43/1 ถนนรามคำแหง (ฝั่งขาออก) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ จุดเกิดเหตุอยู่ตรงริมฟุตปาธ ด้านหน้าร้านเสริมสวยออกัสและธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีแผงค้าขายเสื้อผ้าเป็นแถวยาว แรงระเบิดส่งผลให้รถเข็นและแผงค้าขายเสื้อผ้าเสียหาย เศษขยะกระจายเกลื่อน พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนที่อยู่ใกล้จุดดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ 7 คน ประกอบด้วย น.ส.สุมลธิญา เวชสูงเนิน อายุ 44 ปี น.ส.โดนัส ยะสุรี อายุ 16 ปี นางสุธามาศ จิ้งจ่าย อายุ 47 ปี น.ส.จันทิรา จิ้งจ่าย ถูกนำส่งโรงพยาบาลรามคำแหง นายสราวุฒิ มหาชัย อายุ 25 ปี พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี น.ส.พนัดดา กันชัย อายุ 25 ปี และนายอาทิตย์ วงหางบุตร ถูกนำส่งโรงพยาบาลเวชธานี
จุดเกิดเหตุระเบิด บริเวณปากซอยรามคำแหง 43/1 หน้าร้านเสริมสวยออกัส และธนาคารกรุงเทพ
"เสียงระเบิด" กลับมาดังสนั่นอีกครั้งในเมืองกรุง หลังจากเงียบหายไปตั้งแต่บรรยากาศการเมืองในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มนิ่ง (“เสียงระเบิด” ในครั้งนี้ถือว่าเป็นอีกครั้งที่เกิดขึ้น หลังจากทีเงียบหายไปตั้งแต่บรรยากาศการเมืองในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มนิ่ง) การระเบิดในครั้งนี้จึงทำให้มีการตีความกันไปต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปมขัดแย้งผลประโยชน์ของกลุ่มมาเฟียหน้ารามฯ ที่มีมานานในการดูแลผลประโยชน์มหาศาลบริเวณหน้า ม.รามฯ ไปจนถึงตรอกซอกซอยต่างๆ ในย่านดังกล่าว บ้างก็ว่าเป็นฝีมือของผู้ไม่หวังดี สร้างสถานการณ์ในช่วงอุณหภูมิการเมืองที่กำลังเริ่มมีหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นฝีมือก่อการร้ายจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างไรก็ดีภายหลังเกิดเหตุครั้งนี้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. (ในขณะนั้น) ได้ระดมกำลังหน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์ระเบิด (EOD) ชุดสืบสวน สน.หัวหมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบร่วมกันตรวจที่เกิดเหตุเพื่อเก็บหาหลักฐานต่างๆ ซึ่งจุดเกิดเหตุระเบิดอยู่ระหว่างโคนเสาไฟฟ้ากับตู้ชุมสายโทรศัพท์ ที่ตั้งอยู่ริมถนนใกล้กับแผงขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับ บริเวณปากซอยรามคำแหง 43/1 ริมฟุตปาธ ด้านหน้าร้านเสริมสวยออกัสและธนาคารกรุงเทพ อานุภาพของแรงระเบิดไม่ได้รุนแรงมากเท่าไรนัก แต่มีสะเก็ดระเบิดบางส่วนกระจายไปถูกกระจกร้านเสริมสวยบริเวณใกล้เคียงแตกเป็นรูหลายบาน
พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. ระดมกำลัง จนท.อีโอดี ร่วมตรวจที่เกิดเหตุ
ต่อมาตำรวจชุดอีโอดี ได้นำเศษชิ้นส่วนวัตถุระเบิดไปตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่อง ใช้ดินระเบิดแรงดันต่ำ น้ำหนักไม่เกิน 2 กก. บรรจุในกระป๋องเหล็ก มีตะปูเรือใบ เศษสายไฟ เหล็กเส้นตัดสั้นอัดอยู่เต็มกระป๋อง เพิ่มอานุภาพการทำลายล้างไม่ต่างจากระเบิดสังหารขนาดย่อม
แต่ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคลายความกังวลไปไม่น้อย เนื่องจากระเบิดแสวงเครื่องที่ตรวจเบื้องต้นนั้น ต่างจากเหตุระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ผู้ประกอบระเบิดแสวงเครื่องครั้งนี้ถือว่ามีความชำนาญพอสมควร จึงประกอบระเบิดรูปแบบนี้ขึ้นมาได้ เบื้องต้นคาดว่าจุดประสงค์ที่ก่อเหตุน่าจะเป็นการลงมือเพื่อข่มขู่คุกคามเหยื่อ ไม่ได้หวังเอาชีวิต หลังจากมีการนำภาพวงจรปิดที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์เสี้ยววินาทีเกิดเหตุเอาไว้ได้นั้น พบว่าช่วงระเบิดยังมีประชาชนเดินจับจ่ายซื้อข้าวของ แรงระเบิดทำให้แผงและราวเสื้อผ้าล้มระเนระนาด ประชาชนเฉพาะที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ในรัศมี 10 เมตรเท่านั้นที่ได้รับบาดเจ็บถูกสะเก็ดระเบิด 
พบว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่อง "ตะปูเรือใบ" อัดอยู่เต็มกระป๋อง อานุภาพทำลายล้างไม่ต่างจากระเบิดสังหารขนาดย่อม
ด้าน พล.ต.อ.ปานศิริ ได้สั่งกำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตรวจสอบแผนประทุษกรรม เทียบกับเหตุระเบิดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อนหน้านี้ เพื่อหาความเชื่อมโยง โดยมอบหมายให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.(ในขณะนั้น) ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนขึ้นมาทำคดีนี้ ทั้งคณะกรรมการระดับ บช.น. และระดับกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 เพื่อเร่งสืบสวนขยายผลในรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะการแกะรอยมือวางระเบิดจากกล้องทีวีวงจรปิดของเอกชนในพื้นที่ดังกล่าว และกล้องซีซีทีวีของหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นของมหาวิทยาลัยรามคำแหงหรือของ กทม.
คดีนี้นอกจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีโอดี และตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานเข้าไปคลี่คลายคดีแล้ว ยังมีหน่วยงานทหารสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยเดินทางมาร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ และร่วมหาข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของระเบิดแสวงเครื่องที่นำมาวางนั้นรูปแบบเป็นลักษณะเช่นใด ใช้อะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง เพื่อเชื่อมโยงไปถึงเป้าหมายที่ประกอบระเบิดว่าเป็นของกลุ่มใด 
สำหรับแนวทางการสืบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจแยกเป็น 2 ประเด็น คือ ความขัดแย้งประโยชน์ร้านค้าและการก่อกวนสร้างสถานการณ์ โดยตัดประเด็นเรื่อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เรียกประชุมผู้นำเหล่าทัพ และประเด็นปัญหาเหตุรุนแรงพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากพฤติการณ์และวัตถุพยานไม่เชื่อมโยงกัน แต่เมื่อตรวจสอบอานุภาพของวัตถุระเบิดเบื้องต้นแล้วทำให้พุ่งเป้าไปในเรื่องปัญหาขัดแย้งผลประโยชน์ที่บริเวณแผงค้าขายหน้า ม.รามคำแหง
"รัศมีทำลายล้าง"
แต่ก็เกิดคำถามจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ระบุว่าถ้าเป็นเรื่องแย่งพื้นที่ค้าขายทำไมต้องใช้ระเบิด หรือถ้าจะใช้ระเบิดทำไมต้องเป็นระเบิดแสวงเครื่อง จุดนี้คล้ายเป็นความจงใจให้สังคมมองโยงถึงปัญหาภาคใต้ เพราะพื้นที่หน้ารามฯ ใครๆ ก็รู้ว่าคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีเหตุปัจจัยความขัดแย้งมากมาย การวางระเบิดตรงนี้จึงสรุปยากว่ามาจากเรื่องใด และมีโอกาสสูงที่คนจะจับจ้องไปในเรื่องภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลค่อนข้างล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา มีความเป็นไปได้ว่าคนก่อเหตุจงใจให้สังคมตีความไปเช่นนั้นเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล ทั้งเรื่องปล่อยให้เกิดระเบิดกลางกรุงและสถานการณ์ไฟใต้ลามเข้ามาในเมืองหลวง สอดคล้องกับที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) กล่าวว่า "ทำเพราะหวังผลทางการเมือง"
ทั้งนี้ ม.รามคำแหง ถือเป็นทำเลทองที่หนึ่ง เนื่องจาก ม.รามคำแหง เป็นมหาวิทยาลัยเปิด จึงมีนักศึกษาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศมาศึกษาหาความรู้เป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่ดังกล่าวนอกจากจะเต็มไปด้วยหอพักนักศึกษา สถาบันติวเตอร์ ศูนย์การค้า ร้านอาหาร เสื้อผ้า สถานบันเทิง ผับ ฯลฯ ที่ผุดในอาณาบริเวณซอกซอยใกล้เคียงเต็มไปหมด นับเป็นแหล่งทำเงินมหาศาล เพราะค้าขายกันได้สารพัดรูปแบบ
ศาลฯสั่ง 4 มือระเบิด จำคุกตลอดชีวิต
ในที่สุดเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.56 ชุดสืบสวนศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) สามารถติดตามจับกุม นายอิดริส สะตาปอ ชาวนราธิวาส ก่อนที่จะขยายผลตามรวบตัว 3 ผู้ต้องหาได้สำเร็จ ประกอบด้วย นายอัฟฟาฮัม สะอะ ชาวปัตตานี, นายคัมคีร์ ลาเต๊ะ ชาวปัตตานี และ นายอิลรอเฮ็ง แวแม ชาวปัตตานี ก่อนที่ศาลอาญาจะพิพากษาให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ทั้งนี้ ผู้ต้องหาให้การสารภาพ จึงลดโทษจำคุก 66 ปี 8 เดือน โดยโทษจำคุก ให้คงจำคุกคนละ 50 ปี ตามกฎหมายที่กำหนดโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 50 ปี
ท้ายที่สุดนี้ไม่ว่าผู้อยู่เบื้องหลัง "ระเบิดหน้ารามฯ" มีจุดประสงค์ที่แท้จริงอันใด ไม่ว่าจะเป็นขัดแย้งผลประโยชน์ โยงสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือหวังผลทางการเมือง ฯลฯ สมควรอย่างยิ่งที่ต้องถูกสังคมประณามและลงทัณฑ์ให้ถึงที่สุด โทษฐานใช้ชีวิตของผู้บริสุทธิ์เป็นเดิมพัน.
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/626233
ads by chester online