เสือแปรรูปซุกวัดป่า EP.1 คุ้ยเบื้องหลังดองลูกเสือ จุดแตกหัก หารไม่ลงตัว?


ผงะ! พบซากศพลูกเสือกว่า 40 ตัว ถูกดองแช่ไว้ในตู้เย็นขนาดใหญ่ ของ 'วัดป่าหลวงตาบัว' หรือ 'วัดเสือ' ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ขณะที่ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าดำเนินการขนย้ายเสือ ข่าวสะเทือนอารมณ์ ที่สร้างระลอกคลื่นแห่งความตื่นตระหนกให้กับสังคมไทย ในวงกว้าง พร้อมกับสารพัดคำถามตามมาว่า เหตุไฉน....เรื่องอันแสนน่าสลดหู่เยี่ยงนี้ จึงได้เกิดขึ้นกับ สถานที่ที่ชาวสยาม เรียกกันว่า พุทธสถาน

พร้อมกับเกิดสารพัดความกังขา จนนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตตามมา นานัปการ เช่น วัดเก็บดองซากลูกเสือจำนวนมากผิดปกติเอาไว้ทำอะไร? เหตุไฉน จึงจำเพาะต้องเป็น “ลูกเสือ” ….ฝีมือใคร ที่เป็นผู้ลงมือดองซากเสือ... วัตถุประสงค์ในการดองนี้...เพื่ออะไรกันแน่ ลูกเสือเหล่านั้น ตายตามธรรมชาติ หรือ มีใครพยายามทำให้มันตายก่อนที่จะลืมตาดูโลก โดยมีจุดประสงค์บางอย่าง จริงหรือไม่ ซากเสือที่เก็บไว้ สามารถเอาไปทำอะไรได้หรือไม่ แล้วแน่นอน...มันควรจะมีมูลค่ามหาศาลสักแค่ไหน!...และใครกันที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ อยากจะให้คุณผู้อ่านร่วมแกะรอยไปพร้อมๆ กับเรา กันดีกว่า ในซีรีส์สกู๊ป ทั้ง 2 ตอน ในวันนี้และวันพรุ่งนี้ ...

ติดตามได้นับจากบรรทัดนี้ เป็นต้นไป...



ปฐมบท เสือวัดป่าหลวงตาบัว เปิดเบื้องหลัง เหตุขัดผลประโยชน์ ดึงมือคนนอกล้างแค้น

จากความเพียรพยายามดั้นด้นหาข้อมูล ทำให้ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้หนึ่งซึ่งเคยดูแลเสือภายในวัด แต่ปัจจุบันนี้ได้ลาออกแล้ว ซึ่งได้เปิดเผย กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พร้อม อ้างภาพถ่าย เพื่อนำเสนอข้อมูลในอีกแง่มุมหนึ่ง

แต่เพื่อความปลอดภัย แหล่งข่าวรายนี้ จึงขออนุญาตใช้นามสมมติ ว่า "หนึ่ง"

โดย "หนึ่ง" เปิดเผยกับเราว่า พื้นที่บริเวณวัดอยู่ติดกับภูเขา จึงมีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่ กระทั่งเมื่อปี 2537 มีชาวบ้านนำสัตว์ป่าที่บาดเจ็บมาให้หลวงตา ช่วยรักษา จนกระทั่งหาย จึงได้ปล่อยกลับขึ้นเขาไป แต่แปลกตรงที่ว่า สัตว์ที่ถูกปล่อยกลับไปเหล่านั้น กลับลงมากินข้าวก้นบาตรของหลวงตาทุกวันด้วยความคุ้นเคย แถมยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั้งปี 2542 มี ชาวบ้าน นำเสือ ที่มีอาการบาดเจ็บมาให้หลวงตา ช่วยดูแลปฐมพยาบาลให้

"หลวงตา เป็นคนรักสัตว์ทุกประเภท ดูแลช่วยเหลือเอ็นดู คือท่านรักจากใจจริงมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งได้เสือมาจากชาวบ้าน 1 ตัว หลวงตาจึงไปประสาน สัตวแพทย์คนนึง ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง เข้ามาช่วยดูอาการของเสือ จนกระทั่งรักษาจนหายดี ต่อมาก็มีหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ทราบข่าว จึงเอาเสือมาฝากให้เลี้ยงไว้เรื่อยๆ โดยไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุน อาหารการกิน หรือ ยารักษาโรคให้ เมื่อเสือเหล่านี้ ออกลูกหลานเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับในระหว่างนั้น หลวงตา รู้จักกับ สัตวแพทย์คนหนึ่ง (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) จึงได้ปรึกษาหารือ เรื่องการนำนักท่องเที่ยวเข้ามาชมความน่ารักของเสือภายในวัด เพื่อเก็บค่าเข้าชม เพื่อนำรายได้ทั้งหมด มาเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเสือ "หนึ่ง" กล่าว



สัตวแพทย์ คนลงมือ ดองลูกเสือ? อ้างเก็บไว้เพื่อศึกษาทางการแพทย์

"หนึ่ง" กล่าวต่อว่า กระทั่งปี 2548 เมื่อวัดเสือ โด่งดังไปทั่วโลก สำนักข่าวต่างประเทศได้ยกย่องหลวงตา เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ซึ่งหมายถึงการที่ทางวัด สามารถนำเสือที่เป็นสัตว์ดุร้าย มาอยู่ร่วมกับคนได้โดยไม่เกิดอันตราย นักท่องเที่ยวแห่เข้ามาชมนับพันคนต่อวัน เก็บรายได้ในช่วงนั้นได้วันละหลายแสนบาท ทำให้มีแนวคิด ฝังไมโครชิพในเสือทุกตัว เพื่อการตรวจนับจำนวน และเก็บข้อมูลของเสือให้แม่นยำเป็นระเบียบ

"นอกจากฝังไมโครชิฟแล้ว สัตวแพทย์คนนี้ ได้ออกไอเดีย นำเสนอหลวงตา อยากจะนำซากศพลูกเสือที่คลอดแล้วเสียชีวิต ซึ่งสำหรับวัดถือเป็นเรื่องปกติ ที่เสือจะคลอดมา 8 ตัว ตายถึง 7 ตัว มาสตัฟฟ์หรือ แช่ดองเอาในขวดโหล เพราะตั้งใจจะทำเป็น ศูนย์เรียนรู้ พิพิธภันฑ์ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์เข้ามาดูงาน ศึกษาวิจัย ใช้เป็นความรู้ด้านทักษะทางการแพทย์ ในทำนองเดียวกับ การนำศพเด็กทารกมาดองไว้ในโหล ซึ่งซากลูกเสือในวัด ที่เป็นข่าวหน้า 1 ตามหนังสือพิมพ์ทุกฉบับไปแล้วนั้น ผมเชื่อว่าเป็นลูกเสือที่ตายตอนคลอด ซึ่งมีการนำมาแช่เย็นไว้ เพราะรอดำเนินการ แต่ยังไม่เสร็จ" นายหนึ่ง กล่าว


รายได้พุ่งวันละ 1 ล้านบาท ผลประโยชน์ไม่ลงตัว นำสู่ความแตกแยก ล้างแค้น

"หนึ่ง" เล่าให้ทีมข่าวฟังต่อไปว่า เมื่อมีชื่อเสียงโด่งดัง ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกเข้ามาได้เรื่อยๆ กระทั่งค่าเข้าชมปรับครั้งล่าสุด อยู่ที่คนละ 600 บาท ในหนึ่งวัน เปิดให้คนเข้ามาประมาณ 1 พันคน ไม่รวมค่ากิจกรรมต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวเต็มใจจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อร่วมกิจกรรมภายในวัด ตกแล้วสร้างรายได้ให้กับทางวัด เกือบๆ 1 ล้านบาททุกวัน ตรงจุดนี้เองหลายฝ่ายจึงมองว่า มันคือผลประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะคนที่เข้ามารู้เห็นเกี่ยวกับรายรับตรงนี้ เริ่มจะใจไม่นิ่งพอ หรือ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ จากมิตรที่ร่วมกันสร้าง ร่วมกันดูแล จึงแปรเปลี่ยนไปเป็นศัตรู นำข้อมูลที่รับรู้ กลับมาโจมตีเล่นงานวัด

"ผมไม่อยากจะระบุ หรือเจาะจงลงลึกในรายละเอียด ว่าใครทำอะไรยังไง เอาเป็นว่าซากสัตว์ต่างๆ ที่ถูกเก็บไว้ภายในตู้เย็น เป็นซากเสือ ที่สัตวแพทย์นำเอามาแช่ไว้ แต่ต่อมา เกิดไปมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ในวัด รวมทั้งกับตัวหลวงตา จึงตั้งตัวเป็นฝ่ายตรงข้าม เอาข้อมูลต่างๆไปร้องเรียนวัด มีอยู่ครั้งหนึ่ง เที่ยวไปบอกใครๆ ว่า เสือในวัดมีไม่ครบ ทั้งๆ ที่ผ่านมา ก็มีการฝังไมโครชิพ เอาไว้แท้ๆ" หนึ่ง กล่าว

กระทั่งปี 2557 องค์กรต่างชาติ ได้ยื่นหนังสือสั่งให้ทางวัด ล้มเลิกการโชว์ของเสือประเภทต่างๆ โดยเด็ดขาด เนื่องจากมองว่า เป็นการทารุณสัตว์ ซึ่งตนเองและเจ้าหน้าที่ดูแลเสือในวัดอีกหลายคน ทราบดีว่า องค์กรต่างชาติเหล่านี้ ได้รับการประสานให้เข้าตรวจสอบวัด โดยใคร? ส่วนปัญหาที่เป็นข่าวโด่งดังใหญ่ระดับโลก ทางวัดไม่เคยออกมาแก้ข่าวแม้แต่ครั้งเดียว เพราะคิดว่า ถ้าไม่ไปสุมไฟอะไรๆ คงเงียบไปเอง

"ผมลาออกจากงานที่วัดมา หลังจากหลวงตามรณภาพไม่นาน แต่เรื่องราวความเคลื่อนไหวต่างๆ ภายในวัด ก็รับรู้อยู่ตลอด จากลูกน้อง และเพื่อนคนงานในวัด สิ่งที่ผมเล่าทั้งหมด คือ ข้อเท็จจริงอีกมุมหนึ่ง ซึ่ง ผมอยากจะตอบแทนบุญคุณหลวงตา พูดให้สังคมได้รับทราบในส่วนที่ไม่เคยทราบ ใครจะเชื่อหรือไม่ แล้วแต่พิจารณากันเอง แต่หากจะให้ ผม พูดถึงภาพในมุมกว้าง เรื่องการเข้ามาขององค์กรต่างๆ รวมถึงการที่ประชาชนไม่เห็นด้วย เพราะเลี้ยงเสือในวัดก็ตามที อันนี้ ผมคงตอบคำถามแทนบุคคลเหล่านั้นไม่ได้ ผมขอตอบเฉพาะในสิ่งที่ทราบ และขอยืนยันอีกครั้งว่า ทางวัดไม่ได้มีการทรมานสัตว์ ไม่เคยวางยาเสือ หรือ ทำร้ายร่างกาย อย่างที่สื่อหลายสำนักเคยเสนอออกไป" หนึ่ง กล่าวทิ้งท้าย

หลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์ หนึ่ง ได้มอบรูปนี้ ให้กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ด้วย


เอาไว้ก็ไม่น่าจะผิดอะไร แต่….เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องไปพิสูจน์เจตนาให้ได้ว่า นำสัตว์เล่านั้นไป ดองเพื่อประโยชน์อะไร? เช่น หากพบว่า ดองไว้เพื่อกิน ก็คงไม่เหมาะสมแน่นอน แต่หากดองไว้เพื่อทำการศึกษา ก็คงต้องว่ากันอีกที เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่ควรทำความจริงให้ปรากฏ คือ ลูกเสือกว่า 40 ตัว นั้น มีสาเหตุการตายจากอะไรกันแน่? ซึ่งคงต้องไปดูในรายละเอียดหลังจากนี้อีกที"

อย่างไรก็ดี เมื่อทีมข่าวฯ พยายามโทรศัพท์สอบถามไปยัง พ.ต.อ.ศุภิฏพงศ์ ภักดิ์จรุง รองประธานมูลนิธิวัดป่าหลวงตาบัว และกรรมการบริษัท ไทเกอร์ เทมเพิล จำกัด เพื่อสอบทราบข้อเท็จจริง แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถติดต่อได้ (2 มิ.ย.59)

อวัยวะลูกเสือ ไม่ต่างแม่เสือ-พ่อเสือ แถมสะดวกขนย้าย ซ้ำมูลค่าสูงลิ่ว!

ด้านแหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกับปฏิบัติการเข้าตรวจค้นวัด เปิดเผยกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ในประเด็นการดองลูกเสือกว่า 40 ตัว เอาไว้ว่า เบื้องต้นมีการตั้งข้อสันนิษฐานไว้หลายสาเหตุ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงจะต้องรอผลการชันสูตรซาก ด้วยวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ จากทั้ง หน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และ คณะสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อน ว่า ตัวซากลูกเสือทั้งหมด จะบอกอะไรได้บ้าง เช่น ตายมานานหรือยัง? ตายโดยสาเหตุใด? ตายโดยโรค หรือ ไม่มีโรค ตายมาตั้งแต่กำเนิด หรือ ตายตั้งแต่อยู่ในท้อง และเสือทั้งหมดเป็นเสือที่เกิดจากพ่อแม่เสือภายในวัด หรือ มีการหมุนเวียน นำเสือจากแหล่งอื่นเข้ามา....

แต่ส่วนตัว อยากตั้งข้อสังเกตแบบนี้ว่า ลูกเสือ กับ พ่อเสือหรือแม่เสือ มีองค์ประกอบและคุณสมบัติเหมือนๆ กัน พูดง่ายคือ อวัยวะของลูกเสือ มันก็ไม่ได้แตกต่างจาก พ่อเสือหรือแม่เสือสักนิด เพราะฉะนั้น หากใครที่คิดจะกินเสือ หรือ นำส่วนใดส่วนหนึ่งไปใช้ปรุงยา ความแตกต่างของอวัยวะของลูกเสือและพ่อเสือหรือแม่เสือ มันก็ไม่แตกต่างกัน ซ้ำร้าย ซากลูกเสือยังมีข้อดี ในแง่ที่จะสามารถขนย้ายได้ง่าย และเท่าที่ทราบ เฉพาะกระดูกเสือเหล่านี้ อาจจะมีมูลค่าสูงกว่า กิโลกรัมละ 7-8 หมื่นบาท แต่หากเป็นลูกเสือ จะมีมูลค่าสูงกว่านั้นขึ้นไปอีก ยังไม่นับสารพัดอวัยวะของเสือ ที่สามารถนำไปขายได้เกือบทุกส่วน และที่สำคัญมีราคาสูงอีกด้วย


อันนี้ คงต้องรอผลการชันสูตรซาก ด้วยวิธีการนิติวิทยาศาสตร์ แต่ง่ายๆ เลย เช่น หากเป็นการตายเองตามธรรมชาติ ตามที่มีความพยายามกล่าวอ้าง ในลำไส้ของซากลูกเสือที่ถูกดอง ก็ไม่ควรจะมีน้ำนม หรือ อาหารตกค้างอยู่ หรือ อีกการทดสอบก็คือ การนำปอด จากซากลูกเสือไปลอยน้ำดู หากลอยน้ำ ก็แสดงว่า ลูกเสือได้หายใจก่อนที่จะตาย แต่หากปอดจมน้ำ ก็แสดงว่า เกิดมาแล้วไม่ทันได้หายใจ หรือ ตายก่อนที่จะคลอดนั่นเอง

เร่งตรวจ DNA ลูกเสือดอง หลังวัดไม่ร่วมมือ หากไม่ตรงเสือทุกตัวในวัด ผิดปกติแน่

ด้วยเหตุนี้ ทางทีมข่าวฯ จึงสอบถามไปที่ ดร.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งก็ได้เปิดเผยกับทีมข่าวฯ ว่า การทำงานในส่วนของ หน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ในคดีนี้ จะเน้นไปที่การตรวจหา DNA จากซากลูกเสือที่ดองไว้ ขณะที่ การชันสูตรว่า ลูกเสือเหล่านั้น มีสาเหตุการตายจากอะไร อยู่ในความดูแลของคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

ทั้งนี้ การตรวจหา DNA จาก 40 ตัวอย่าง ก็เพื่อไปดูว่า ตรงกับบรรดาเสือทุกตัวที่ถูกขนย้ายมาจากวัดหรือไม่ ซึ่งหากมีซากลูกเสือตัวใดตัวหนึ่ง เกิดไม่ตรงกันกับเสือที่เลี้ยงอยู่ในวัด ก็แสดงว่า น่าจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น

แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดในเวลานี้ก็คือ ทางวัดไม่ยินยอมที่จะบอกข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเสือที่อยู่ในวัดเลยว่า มีตัวใดหรือไม่ที่มีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นพ่อหรือแม่ ของ ซากลูกเสือที่ถูกพบ ทำให้ทางทีมงานต้องไปหาข้อพิสูจน์ด้วยตัวเอง จากเสือ 137 ตัว และซากลูกเสือ 40 ซาก ที่มีอยู่ในเวลานี้ทั้งหมด ทำให้อาจต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานนานกว่า 2 เดือน 

"ต้องนำ DNA จากซาก 40 ลูกเสือ ทีละซาก ไปเทียบกับเสือตัวเมียที่มีทั้งหมด ทีละตัวๆ ซึ่งกว่าจะเสร็จ คงต้องใช้เวลานานพอสมควร อย่างเร็วที่สุดก็น่าจะประมาณ 2 เดือน" ดร.กณิตา กล่าวอย่างทอดถอนใจ


ตรวจสอบ จริงหรือไม่ มีสัตวแพทย์ ดูแลเสือในวัดหลวงตาบัว?

เพื่อให้เกิดความจริงในประเด็นนี้ ทีมข่าวฯ จึงได้ติดต่อสอบถามไปยัง รศ.น.สพ.ดร.สุวิชัย โรจนเสถียร นายกฯ สัตวแพทย์สภา ว่า จริงหรือไม่ที่มีสัตวแพทย์ เข้าไปดูแลภายในวัดดังกล่าว ซึ่งเราก็ได้รับคำตอบจาก รศ.น.สพ.ดร.สุวิชัย ดังต่อไปนี้

"เบื้องต้นยังไม่ทราบ...ต้องมีการตรวจสอบก่อน แต่หากมีสัตวแพทย์เข้าไปดูแลจริง ก็คงต้องไปตรวจสอบว่า สัตวแพทย์ผู้นั้นคือใคร? มีขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร? ส่วนหากพบว่า มีสัตวแพทย์เข้าไปมีส่วนในประเด็นการดองสัตว์ นั้น ขอตอบแบบนี้ว่า การดองสัตว์ก็เหมือนการสตัฟฟ์สัตว์ หากสัตว์ตายแล้ว นำไปดองเอาไว้ หรือ สตัฟฟ์นิติวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้ ลูกเสือตายเอง หรือ มีใบสั่งให้ต้องตาย

นอกจากนี้ การตรวจสอบจะคลอบคลุมไปถึง การหาพันธุ์ของเสือโคร่งทั้งหมดด้วยว่า เป็นสายพันธ์ุใด โดยหาเป็นสายพันธุ์ที่อยู่อาศัยในป่าประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์อินโด-ไชนิส และ มาลายู แต่หากเป็น สายพันธุ์เบงกอล หรือ ไซบีเรีย ก็แสดงว่าไม่ใช่เสือจากป่าเมืองไทย แน่นอน หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับทีมข่าวฯ ว่า ได้รับการประสานเพื่อให้ช่วยตรวจสอบซากสัตว์แล้ว แต่ยังไม่ได้รับมอบซากเสือทั้งหมดมาตรวจสอบ (วันที่ 3 มิ.ย. 59) ซึ่งหากได้รับมอบมาเมื่อไหร่ ก็จะมีการตรวจสอบตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ต่อไป

ทั้งนี้ ทีมข่าวฯ ต้องการรายงานข้อเท็จจริง ตามข้อมูลที่ได้รับมาเท่านั้น ส่วนความลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนของเรื่องนี้ คงต้องเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องจะต้องหาความจริง เพื่อรายงานให้สาธารณชนได้ทราบต่อไป



ขอบคุณภาพละเนื้อหา : ไทยรัฐ
ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/631482