เลือดออก ตอน ท้อง


เลือดออก ตอน ท้อง !

ท้อง
โดย: สิริพร สมสกุล
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ พญ.ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์ เครือ รพ.พญาไท
เลือดออก ตอนตั้งครรภ์เป็นหนึ่งในความผิดปกติที่คุณแม่กังวลมากที่สุด เพราะส่งผลตรงต่อการตั้งครรภ์และสุขภาพของลูกในครรภ์  สุขภาพแม่ ท้อง ครั้งนี้เราจะมาเรียนรู้ถึงสาเหตุ รวมถึงการดูแลอาการดังกล่าวกันค่ะ
เลือดออกเพราะตั้งครรภ์
แบ่งปัญหาได้ 2 ช่วงค่ะ คือ ช่วงตั้งครรภ์อ่อนๆ หรือในไตรมาสแรก และปัญหาที่เกิดหลังอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ไปแล้ว ซึ่งพบได้ร้อยละ 3-5 ของการคลอดค่ะ
1. ช่วงไตรมาสแรก
ช่วงนี้มักมีเลือดออกไม่มาก และอาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อยร่วมด้วย อันเนื่องจากภาวะต่อไปนี้ได้ค่ะ
- แท้งคุกคาม คือการตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งที่ปากมดลูกยังไม่เปิด พบได้บ่อยโดยจะมีอาการปวดท้องน้อย มีเลือดออกกะปริดกะปรอย อาการจะมากขึ้นเป็นลำดับกระทั่งตกเลือดมากได้
หากคุณแม่พบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูตัวอ่อนในครรภ์ทันทีค่ะ
- ท้องลม คือการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวเด็ก หรือเรียกว่าภาวะไข่ฝ่อ (Blighted ovum) ท้องลมเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ชนิดหนึ่ง ทำให้การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จนถึงครบกำหนดคลอด โดยแพทย์จะตรวจแยกด้วยการตรวจภายในและอัลตราซาวนด์ เนื่องจากภาวะท้องลม สุดท้ายก็จะมีการแท้งเองตามธรรมชาติ
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกมีความผิดปกติไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อทารกเสียชีวิตก็จะมีอาการตามมา อาการเริ่มด้วยมีเลือดออก และปวดท้องเพราะการบีบตัวของมดลูก ที่สุดก็แท้ง
- ท้องนอกมดลูก มีอาการปวดท้องน้อยมาก อาจปวดร้าวขึ้นไปไหล่และหลัง เพราะเลือดที่ออกมาไปกดใต้กระบังลม นอกจากนี้อาจมีความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว จนถึงขั้นช็อกได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นภาวะฉุกเฉิน จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เร็วที่สุด
2. ช่วงหลังอายุครรภ์ 28 สัปดาห์
เลือดออกในช่วงนี้เรียกการตกเลือดก่อนคลอด ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินของการตั้งครรภ์
อาการทั่วไป จะปวดท้องเนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูก หากเกิดในช่วงนี้ก็เสี่ยงที่ทารกจะคลอดก่อนกำหนด ตัวคุณแม่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งในการดูแลของแพทย์นั้น แพทย์จะตรวจเช็กลักษณะของเลือดที่ออก ดูอาการการปวดท้อง หรือการหดรัดตัวของมดลูก ดูควบคู่ไปกับประวัติของคุณแม่ เช่น เคยผ่าท้องทำคลอด มีรกเกาะต่ำ มีรกลอกก่อนกำหนดหรือไม่
ฉะนั้นคุณแม่จึงต้องดูแลตัวเองและพบแพทย์เป็นประจำระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันปัญหาหรือภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมดค่ะ
ภาวะเสี่ยงอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่มีสภาวะการตั้งครรภ์แตกต่างกัน ทั้งจากตัวคุณแม่เอง เช่น อายุ ความเจ็บป่วย และอื่นๆ
- รกเกาะต่ำ คือการที่รกเกาะที่ผนังมดลูกในตำแหน่งที่ต่ำกว่าปกติ หรืออยู่ในตำแหน่งส่วนล่างของผนัง ซึ่งใกล้กับปากมดลูกหรือคลุมปากมดลูก ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดตั้งแต่ปริมาณน้อยๆ กระทั่งมากจนอันตรายต่อคุณแม่และลูกได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที โดยเฉพาะเมื่อมีการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้ปากมดลูกเปิดและตกเลือดได้
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบความเสี่ยงในคุณแม่อายุมาก มีการคลอดบุตรหลายคน มีประวัติขูดมดลูกหรือผ่าท้องคลอดมาก่อน เป็นต้น
อาการสงสัยรกเกาะต่ำ: ถ้ามีเลือดสีสดๆ ออกทางช่องคลอดในขณะที่ไม่มีอาการเจ็บท้อง แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูตำแหน่งรกเกาะ ซึ่งวิธีดูแลคือการนอนพักมากๆ หลีกเลี่ยงการเดินหรือทำงานหนัก งดเพศสัมพันธ์ งดการสวนล้างช่องคลอดหรือสวนทวารทุกชนิด และหากมีเลือดออกผิดปกติหรือเจ็บท้องต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที ซึ่งเมื่อครรภ์ครบกำหนดถ้ายังตรวจพบรกเกาะต่ำอยู่ก็จะพิจารณาคลอดบุตรด้วยการผ่าตัดคลอด
- รกลอกตัวก่อนกำหนด คือภาวะที่มีการลอกตัวของรกจากตำแหน่งที่เกาะอยู่กับผนังมดลูก ทำให้มีเลือดออกและมีก้อนเลือดใต้รก ซึ่งขัดขวางการนำสารอาหารและออกซิเจนจากแม่มาให้ลูก ส่งผลทำให้เกิดการปวดท้อง เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด หรือรุนแรงจนเกิดทารกเสียชีวิตในครรภ์จากการขาดออกซิเจนได้
มีโอกาสพบมากในคุณแม่ที่ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ทารกมีสายสะดือสั้นผิดปกติ กรณีรกเกาะที่ตำแหน่งที่มีเนื้องอกมดลูก ภาวะครรภ์แฝดน้ำแล้วมีการแตกของถุงน้ำคร่ำอย่างรวดเร็ว คุณแม่มีประวัติสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา มีรกลอกตัวก่อนกำหนดในครรภ์ที่แล้ว ตั้งครรภ์คลอดบุตรหลายคน หรือหลังจากมีการบาดเจ็บกระแทกรุนแรงบริเวณหน้าท้อง เป็นต้น
อาการรสงสัยกลอกตัวก่อนกำหนด: ปวดท้อง กดเจ็บที่มดลูก มีการแข็งตัวและหดรัดตัวของมดลูก ยอดมดลูกสูงกว่าอายุครรภ์ มีเลือดออกผิดปกติซึ่งอาจออกเยอะหรือน้อยก็ได้ และอาจพบการเต้นของหัวใจทารกผิดปกติหรือลูกดิ้นน้อยลงได้
การรักษาจะพิจารณาให้คลอดบุตร เพราะถ้ารกลอกตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ลูกอาจขาดออกซิเจนและคุณแม่มีอาการตกเลือดได้
- มดลูกแตก คือการฉีกขาดของผนังมดลูก ซึ่งเพิ่มอัตราการตายของคุณแม่และลูก มักมีเหตุกระตุ้นจากการผ่าท้องคลอดหรือผ่าตัดเนื้องอกมดลูกมาก่อน หากคลอดยากต้องใช้คีมช่วยคลอดในกรณีลูกตัวใหญ่มากหรือคลอดติดขัด เคยคลอดบุตรหลายคน มีการบาดเจ็บช่องท้องรุนแรง หรือได้รับยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก เป็นต้น
อาการสงสัยมดลูกแตก: ปวดท้อง และอาจมีเลือดออกด้วย โดยแพทย์จะตรวจพบส่วนที่ผิดปกติของทารกได้ชัดเจน การรักษาคือต้องรีบผ่าตัดคลอดด่วน
- เส้นเลือดของสายสะดือแตก มักพบในกรณีที่มีรกเกาะต่ำ มีรกน้อย ครรภ์แฝด เป็นต้น
อาการสงสัยเส้นเลือดของสายสะดือแตก: คุณแม่จะมีเลือดออกทางช่องคลอด ตรวจภายในคลำพบเส้นเลือดเต้นเป็นจังหวะ กรณีที่มีเลือดออกมากอาจทำให้ลูกในท้องขาดเลือดและออกซิเจนได้ ซึ่งเมื่อตรวจพบคุณหมอก็จะแนะนำให้ผ่าท้องคลอดเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูก
เลือดออกไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์
- การมีติ่งเนื้อที่ปากมดลูกหรือมีการอักเสบของปากมดลูก มักมีเลือดออกไม่มาก ไม่ปวดท้อง ตรวจพบจากการตรวจภายใน ซึ่งคุณหมอสามารถบิดตัวติ่งเนื้อออกทางช่องคลอดได้เลยโดยไม่ต้องดมยาสลบและไม่เจ็บ แต่ถ้ามีการอักเสบก็สามารถกินยาปฏิชีวนะที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ได้
-การอักเสบติดเชื้อของช่องคลอดหรือปากช่องคลอด คุณแม่มักจะมีตกขาว ซึ่งอาจมีอาการคันหรือมีกลิ่นร่วมด้วย สามารถรักษาด้วยการเหน็บยาทางช่องคลอด และทาครีมบริเวณปากช่องคลอดถ้ามีอาการคัน แต่โดยทั่วไปจะเลือกเป็นยาเหน็บซึ่งปลอดภัยสำหรับลูกในท้อง
-การมีแผลฉีกขาดที่ปากมดลูกหรือผนังช่องคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการบาดเจ็บหลังร่วมเพศ พบได้บ่อยแต่ไม่เป็นอันตราย แผลเหล่านี้จะหายได้เองภายในหนึ่งสัปดาห์ เพราะบริเวณจุดซ่อนเร้นของเรามีเลือดมาล่อเลี้ยงเยอะนั่นเอง ฯลฯ
- การแตกของเส้นเลือดขอดที่ช่องคลอดหรือปากช่องคลอดที่พบขณะตั้งครรภ์ พบได้ไม่บ่อย และบางคนอาจมีอาการปวดร่วมด้วย
-มะเร็งปากมดลูก ถ้าคุณแม่ตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว จะยิ่งพบได้น้อย แต่ถ้ายังไม่เคยตรวจแนะนำให้ตรวจตั้งแต่ตั้งครรภ์อ่อนๆ เพื่อประเมินก่อนว่าไม่มีมะเร็งปากมดลูกซ่อนอยู่
- ผู้ป่วยที่มีโรคเลือด ที่ทำให้มีเลือดออกผิดปกติ หรือเป็นโรคไข้เลือดออกช่วงที่เกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งต้องปรึกษาคุณหมอทางอายุรกรรมให้คอยดูแลรักษา เลือดก็จะหยุดเมื่อตัวโรคควบคุมได้
จริงๆ แล้วปัญหาเลือดออกนั้นมีสาเหตุซ่อนอยู่มากมาย และการดูแลก็แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อคุณแม่มีเลือดออก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุให้เร็วที่สุด จะได้ดูแลรักษาถูกต้องค่ะ
ขอขอบคุณเนื้อหาดีดี จาก นิตยสาร รักลูก